ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566

          คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เท่ากับเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

          1.    การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (การใช้จ่ายของภาคเอกชน) ขยายตัวในเกณฑ์สูง ร้อยละ 5.4 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจาก 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการใช้จ่ายในภาคบริการที่โตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ซึ่งหมวดบริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.1 โดยเพิ่มจากการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร
          2.    การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.1 ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.9  โดยการลงทุนในภาคเอกชนยังมีการลงทุนต่อเนื่องแต่ถือว่าน้อยกว่าไตรมาส 4/2565 ขณะที่การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
          3.    การส่งออก ลดลงร้อยละ 4.6 เนื่องจากประเทศคู่ค้าประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในบางกลุ่มสินค้ายังมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
          4.    ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 7.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
          5.    การผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.1 โดยลดลงจากการสั่งซื้อของประเทศปลายทาง ทำให้การผลิตสินค้าลดลงตามไปด้วย
          6.    ด้านที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 34.3 ซึ่งยังโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่โต 30.6 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
          7.    การขายส่งและชายปลีก เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ที่ได้อานิสงฆ์จากการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการและการท่องเที่ยว
          8.    สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น  ไตรมาสที่ 6 ร้อยละ 12.4 โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 76.3
          9.    สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 4.2 โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส ซึ่งสืบเนื่องจากทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก และการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ
          ทั้งนี้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอแนะแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566  ควรให้ความสำคัญ ดังนี้
1.    การขับเคลื่อนภาคการส่งออก 
          a.    เร่งส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดี และสร้างตลาดใหม่
          b.    เฝ้าระวังผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
          c.    ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
          d.    อำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการส่งออก
          e.    การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางเศรษฐกิจ เช่น FTA / RCEP
          f.    การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก
2.    การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
          a.    เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง
          b.    แก้ปัญหาที่นักลงทุน/ผู้ประกอบการมองว่าเป็นอุปสรรค
          c.    ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
          d.    ส่งเสริมการลงทุนใน EEC
          e.    ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ
          f.    การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง
3.    การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
          a.    สร้างความพร้อมต่อการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
          b.    ส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
          c.    จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ
          d.    ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
4.    การดูแลภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 66/67 ควบคู่ไปกับการเตรียมรองรับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
5.    รักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศในช่วงหลังเลือกตั้ง


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar