คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ 9 มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565

จากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของสหภาพยุโรปที่จะมีความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ 9 มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 โดยมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานช่วง 3 เดือนนั้น นำไปสู่การลดการนำเข้าก๊าซ Spot LNG ที่มีราคาแพงให้มากที่สุด (ปัจจุบันอยู่ในระดับราคา 28-29 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้าน บีทียู) จากเดิมที่ประมาณการณ์ต้องนำเข้าราว 18 ลำ หรือราว 1.08 ล้านตัน (ลำละ 6 หมื่นตัน) ลดลงมาเหลือเพียง 8 ลำ หรือ 4.8 แสนตัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่จะนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟทีในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 ให้ปรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดหรือไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลยจากค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ 4.72 บาทต่อหน่วย จากราคา Spot LNG ที่มีราคาแพงนี้เอง

9 มาตรการบริหารจัดการพลังงาน

1. ให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ 12 แห่ง เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาให้มากที่สุด เนื่องจากคำนวณแล้ว หากราคา LNG เกินกว่า 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู การใช้น้ำมันเตาและดีเซลจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า โดยในช่วงตุลาคม - ธันวาคม 2565 มีแผนการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 800 ล้านลิตร และน้ำมันเตา 95 ล้านลิตร

2. จัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีราคาถูกกว่า LNG โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งว่าจะสามารถจัดหาก๊าซในอ่าวไทยและจากเมียนมา เพิ่มขึ้นได้อีกราว 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

3. เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนต่ำ ช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ราว 88 กิกะวัตต์

4. รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น จากสัญญาเดิมที่กำหนดไว้ โดยที่ผ่านมาได้รับซื้อเพิ่มไปแล้วราว 200 เมกะวัตต์

5 .รับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติม จากสปป.ลาว ในโครงการ โครงการน้ำเทิน 1 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าราว 43 กิกะวัตต์ชั่วโมง และโครงการเทินหินบุน 9.6 กิกะวัตต์ชั่วโมง

6. การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 ของกฟผ.กลับมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีกำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ จะช่วยผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำเพิ่มขึ้นได้ 88 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งในส่วนนี้หากสามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นสุดปี 2568 จะทำให้ประหยัดการใช้ก๊าซแอลเอ็นจีได้ราว 3 แสนตัน หรือคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดเงินได้ราว 9,700 ล้านบาท

7. การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ.และบริษัท ปตท.จำกัดไปหารือ

8. การเจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยไม่มีบทปรับจาก กฟผ.และสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก 2 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2565 นี้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าลงได้มาก

9. ขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

• การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส)

• ปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น

• การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่

• การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00 -23.00 น.)

• การกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30 - 60 นาที เป็นต้น

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "9 มาตรการ บริหารจัดการพลังงาน สวท.นครพนม FM 90.25 MHz Tube LINE สวท.นครพนม สวท.นครพนม แฟนคลับ"


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar