ถอดบทเรียนเหตุการณ์หนองบัวลำภูสู่การแก้ปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน

1. ถอดบทเรียนเหตุการณ์หนองบัวลำภูสู่การแก้ปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน

วันที่ 11 ต.ค.65 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฎกรรมในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู โดยสำนักพระราชวัง อัญเชิญ ผ้าไตรพระราชทาน เพลิงพระราชทาน และดอกไม้จันทน์พระราชทาน ประกอบพิธี
ขณะที่การประชุม ครม.ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระราชทานกำลังใจ พระราชทานความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยได้นำคณะรัฐมนตรีร่วมยืน ไว้อาลัยก่อนเริ่มการประชุม ครม.

นายกฯ สั่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ แก้ปัญหายาเสพติด เดินหน้าทำลายกระบวนการค้ายาเสพติด บำบัด-เยียวยา-รักษาผู้เสพ โดยจะมีการนัดประชุมในวันนี้ (12 ต.ค.) เวลา 09.30 น. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยในที่ประชุมจะมีการพิจารณามาตรการแก้ไข ปราบปรามการกระทำความผิด การบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด การแก้ปัญหาสุขภาพ การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล เน้นบูรณาการกระชับการทำงานมากขึ้น รวมทั้งการทบทวนกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะเช่นนี้อีก
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย วางมาตรการกวาดล้างผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างจริงจัง พร้อมได้สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศเพิ่มมาตรการดูแลป้องกันเหตุคลุ้มคลั่ง รวมทั้งปัญหายาเสพติดจะต้องกวาดล้างให้หมดทั้งเครือข่ายใหญ่และรายย่อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สนองนโยบาย ด้วยการเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สาธารณสุขเพิ่มความเข้มในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการขยายผลและใช้มาตรการทางทรัพย์สิน ทั้งยึด อายัดทรัพย์คดียาเสพติด การฟอกเงิน ต่อผู้กระทำผิดทุกรายรวมทั้งติดตามนำผู้เสพมาเข้ารับการบําบัด โดยเฉพาะ ในชุมชน สถานศึกษา สถานบริการและสถานประกอบการ

ด้านกระทรวงมหาดไทย จะรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ที่มีการดำเนินการปราบปรามเกี่ยวกับยาเสพติดมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าไม่นิ่งนอนใจและเอาจริงเอาจัง และเพื่อให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการให้ข้อมูลกับฝ่ายบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นการจับกุม 1-2 เม็ด สามารถแจ้งข้อมูลได้ทั้งหมด ทางด้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ประสานทุกจังหวัดและอำเภอ สร้างความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในการให้การสนับสนุนในด้านวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการตรวจหาสารเสพติด ซึ่งมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยรองรับภารกิจของ อปท.
โฆษกรัฐบาลได้เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี มีมติให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุความรุนแรงที่ จ. หนองบัวลำภู ในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น เฉพาะผู้เสียหาย ไม่รวมถึงผู้ก่อเหตุและบุคคล ในครอบครัวซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ดังนี้
1. กรณีเสียชีวิต (ค่าจัดการศพและเงินทุนเลี้ยงชีพ) รายละ 200,000 บาท
2. กรณีบาดเจ็บสาหัส รายละ 100,000 บาท
3. กรณีบาดเจ็บไม่สาหัส รายละ 50,000 บาท
4. กรณีทุพพลภาพ รายละ 200,000 บาท
ทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำได้ทีมแผนกสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเข้าพบพร้อมให้กำลังใจและมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สูญเสียที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู รวม 36 รายๆ ละ 20,000 บาท
จากความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งการรักษาชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กให้ปลอดภัย ซึ่งทีมแพทย์ศัลยกรรมประสาทได้ดูแลอย่างเต็มที่ ภาพรวมผู้บาดเจ็บทั้ง 7 ราย อาการปลอดภัย พ้นขีดอันตรายแล้ว หลังจากนี้จะต้องฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้อยู่ในสภาพปกติมากที่สุด และเร่งเยียวยาจิตใจ ทั้งญาติที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รอดจากการถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บเล็กน้อย และญาติที่สูญเสีย ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จากโรงพยาบาลจิตเวชในภาคอีสานและส่วนกลาง ลงพื้นที่ดูแลแต่ละครอบครัวแล้ว
โดยกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีกลุ่มผู้รับผลกระทบทางตรง คือ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต ญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิต 170 คน ซึ่งได้วางแผนดูแลเยียวยาจิตใจเป็น 3 ระยะ คือ
• ระยะเริ่มแรก ในช่วง 3 วันแรก จะให้การดูแลครอบครัว ผู้รับผลกระทบทางตรง 37 ครอบครัวเป็นรายบุคคลให้ครบถ้วน ใน 2 สัปดาห์
• ระยะ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป จะดูแลต่อเนื่องเกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจ ความเจ็บปวดและความทุกข์ที่อาจจะมีมากขึ้น โดยกระจายทีม MCATT ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมบ้านเชิงรุก
• ระยะ 3 การดูแลต่อเนื่องถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยจะทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมกันดูแล รายที่มีปัญหาจะส่งต่อเพื่อเฝ้าระวังต่อเนื่อง

แนวทางการสื่อสาร
1. ส่งกำลังใจกับเหตุการณ์ความสูญเสียและการดูแลสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบ
2. การเพิ่มมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก
3. แนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ปัญหาสุขภาพจิต/ยาเสพติด/อาวุธปืน ประเด็นหลักทุกสื่อขยายผล
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar