ศบค. มีมติ เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการรับมือสถานการณ์โควิด-19

1 ต.ค. ปรับโควิด- 19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง

ที่ประชุม ศบค. มีมติ เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สิ้นสุดลง สอดคล้องกับแผนในการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก ส่งผลให้ภาพรวมมีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ซึ่งไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก ว่าประสบความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 จากอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตระดับต่ำ โดยปัจจุบันประชากรมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ

ทั้งนี้แผนดูแล "โควิด" หลังเป็นโรคเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการวางแผนร่วมกันในการเปลี่ยนผ่าน ทั้งการเฝ้าระวัง แนวทางการรักษา และการจัดการวัคซีน ภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 โดยใช้กลไก คณะกรรมการโรคติดต่อทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยกรณีติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องกักตัว แต่ให้เน้นมาตรการ DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วันโดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ สำหรับการรักษายังคงรักษาฟรีตามสิทธิ สำหรับผู้ป่วยสีเขียว (ไม่มีอาการและมีอาการน้อยแต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง) เน้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (เจอ แจก จบ) โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับบริการทางการแพทย์ในการรักษาโรคโควิด-19 ทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชั่น ได้แก่ Clicknic Totale Telemed MorDee และ Good Doctor ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน

สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง หรือปอดบวมต้องรับออกซิเจน จะเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ในกรณีที่ผู้ติดเชื้ออาการทรุดอย่างรวดเร็ว (อาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย (ซึ่งแตกต่างจาก UCEP ทั่วไปที่รักษาได้ 72 ชั่วโมง จากนั้นต้องส่งไปรักษาตามสิทธิ) ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี ส่วนการฉีดวัคซีนประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำหนด โดยกลุ่มเฉพาะกลุ่ม 608 “ควร” ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4-6 เดือน ได้ตามความสมัครใจ

แผนการดำเนินการในระยะ 1 ปี กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าจะคงสถานะเฝ้าระวังไปอีก 1 ปี (ต.ค.65- ก.ย.66) โดยคาดว่าปี 2566 อาจมีการระบาดเกิดขึ้นตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจพบการติดเชื้อเป็นระยะในบางพื้นที่ 1-3 ครั้งต่อปี ส่วนระบบเฝ้าระวังต่อจากนี้ใช้ 4 ระบบในการติดตามข้อมูลการระบาด ดังนี้ ยังมีการติดตามอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย 4 ระบบ คือ

1. การเฝ้าระวังผู้ป่วยใน รพ. Hospital Base ซึ่งมีการดำเนินการแล้ว

2. การเฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน ตลาด ชุมชน ศูนย์พักพิง มีทีมไปสอบสวนโรค และประกาศพิจารณาโรคระบาดเฉพาะพื้นที่

3. การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเฉพาะนอก รพ. เช่น โรงเรียน สถานศึกษา บ้านพักคนชรา ผับบาร์ แรงงานต่างด้าว

4. การเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์

และขอให้มั่นใจว่าระบบรัดกุมได้มาตรฐานสากล สามารถตรวจจับการระบาดควบคุมโรคได้ทันท่วงที

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar