การบริหารจัดการรับมือน้ำท่วมพร้อมระดมความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เตรียมงบประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท เยียวยาฟื้นฟูสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายในการดูแล ฟื้นฟู และเยียวยาให้แก่ประชาชนต่อไป
สำหรับในเรื่องการสร้างรายได้นั้น มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล ทั้งในเรื่องการจัดปัจจัยเกี่ยวข้องการผลิต ดูแลเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ถนนทางหลวง ทางหลวงชนบท
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 10 - 14 ต.ค. จะมี อุณหภูมิลดลง โดยภาคอีสานอุณหภูมิลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส
ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส ด้วยบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนและอุณหภูมิลดลง ส่วนภาคเหนือตอนล่างภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวนที่มีฝนตกหนักและ ลมกระโชกแรง
นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รายงานช่วงตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. – 11 ต.ค. 65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 54 จังหวัด 262 อำเภอ 1,237 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 240,066 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์น้ำคลี่คลายแต่ยังมีบางพื้นที่มีน้ำท่วม รวม 27 จังหวัด 135 อำเภอ 714 ตำบล แยกเป็นรายภาค ดังนี้
1. ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ น้ำท่วมตาก น้ำท่วมเพชรบูรณ์ น้ำท่วมพิจิตร และน้ำท่วมนครสวรรค์ รวม 19 อำเภอ 114 ตำบล
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ น้ำท่วมชัยภูมิ น้ำท่วมขอนแก่น น้ำท่วมมหาสารคาม น้ำท่วมกาฬสินธุ์ น้ำท่วมร้อยเอ็ด น้ำท่วมยโสธร น้ำท่วมนครราชสีมา น้ำท่วมบุรีรัมย์ น้ำท่วมสุรินทร์ น้ำท่วมศรีสะเกษ และน้ำท่วมอุบลราชธานี รวม 59 อำเภอ 228 ตำบล
3. ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ น้ำท่วมอุทัยธานี น้ำท่วมชัยนาท น้ำท่วมสิงห์บุรี น้ำท่วมอ่างทอง น้ำท่วมพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมปทุมธานี น้ำท่วมลพบุรี น้ำท่วมนครปฐมน้ำท่วม นครนายก 48 อำเภอ 330 ตำบล 1,946 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 84,076 ครัวเรือน
4. ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ น้ำท่วมปราจีนบุรี รวม 6 อำเภอ 39 ตำบล
5. ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และราชบุรี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันคิดเป็นร้อยละ 79 ของปริมาณการกักเก็บ โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์นั้น ขณะนี้ได้หยุดการระบายและน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจะกักเก็บไว้ทั้งหมด เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น กอนช. ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที ออกทางฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตก ผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน โดยปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 65 อยู่ที่ 3,159 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกันน้ำ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทางกอนช. กำลังพิจารณาที่จะลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยตัดยอดน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บน้ำในทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 96% ของปริมาณการเก็บกัก หรือประมาณ 1,248 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 52 ล้าน ลบ.ม.
จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้มีความช่วยเหลือลงไปในพื้นที่ เช่น โรงครัวพระราชทาน ที่ได้รับจาก มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และจิตอาสา มาตั้งประกอบอาหารแจกข้าวกล่องช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมไปถึงการตั้งศูนย์อพยพพักพิง โดยประสานงาน ในการจัดหาเครื่องอุปโภค บริโภค ข้าวกล่องและน้ำดื่ม แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยทั้งที่อยู่ด้านนอกและผู้ที่ยังพักอาศัยอยู่ภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งเตรียมการรองรับฤดูแล้งโดยขอให้กรมชลประทาน พิจารณาเก็บกักน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิง หรือแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อรองรับการแก้ปัญหาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในฤดูแล้ง ทั้งนี้ขอให้ตรวจสอบความแข็งแรงของแหล่งเก็บกักน้ำ และความพร้อมของเครื่องมือ รวมทั้งแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาภัยแล้งในคราวเดียวกัน

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar