ครม.อนุมัติงบกลาง 1,249 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการชุมชนดีพร้อม เพื่อขยายพื้นที่โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนครอบคลุมทั้งประเทศ

เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งด้วย "ชุมชนดีพร้อม"

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ประชาชนมีรายจ่ายที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ยังไม่สอดคล้องกับรายจ่าย และยังมีประชาชนบางส่วนกลายเป็นผู้ว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19

เพื่อเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญเพื่อลดผลกระบทจากปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลก รัฐบาลได้เดินหน้าโครงการ “ชุมชนดีพร้อม” เป็นกลไกสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกลไก

“7 วิธีปั้นชุมชนดีพร้อม” ดังนี้

1. แผนชุมชนดีพร้อม : วิเคราะห์ศักยภาพเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และจุดเด่นของแต่ละชุมชน อย่างมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่น

2. คนชุมชนดีพร้อม : คนต้องมีอาชีพและอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างพอเพียงได้ นักศึกษาต้องมีโอกาสและอาชีพ ในชุมชนบ้านเกิด

3. แบรนด์ชุมชนดีพร้อม : สร้างแบรนด์ให้ชุมชนจากอัตลักษณ์อันเป็นจุดเด่นในพื้นที

4. ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม : ต่อยอดผลิตภัณฑ์เด่นเพื่อเสริมความน่าสนใจและจุดเด่นให้ชุมชน

5. เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม : ยกระดับการผลิตในภาคเกษตรอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่กระบวนการผลิตแบบ 4.0 ในแต่ละชุมชน

6. ตลาดชุมชนดีพร้อม : สร้างโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน สามารถเข้าสู่ช่องทางการตลาดในร้าน Modern Trade และตลาดออนไลน์

7. เงินหมุนเวียนดีพร้อม : มีมาตรการสินเชื่อระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการ ร่วมกับการเสริมอาวุธความรู้ทางธุรกิจและการจัดการเงิน

สำหรับกลไก “คนชุมชนดีพร้อม” ได้เริ่มดำเนินโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” เพื่อเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจใน 7 พื้นที่นำร่องแล้ว ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สงขลา ชลบุรี และยะลา ซึ่งล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้ขยายโครงการดังกล่าวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ครม.อนุมัติงบกลาง 1,249 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการชุมชนดีพร้อม เพื่อขยายพื้นที่โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนครอบคลุมทั้งประเทศ

กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและกลับคืนถิ่น ตลอดจนประชาชนที่สนใจเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้ตนเองกว่า 700,000 คน และกลุ่มผู้รับประโยชน์โดยอ้อม จะมีชุมชนอย่างน้อย 400 พื้นที่ทั่วประเทศได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง

ในการดำเนินโครงการนี้จะจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานและทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 4 หลักสูตร ดำเนินการผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 12 แห่ง และส่วนกลางคือที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

• หลักสูตรที่ 1 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต เช่น กลุ่มอาชีพการทำของใช้ในครัวเรือน ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาล้างจานเป็นต้น จำนวน 350,000 คน วงเงิน 529.9 ล้านบาท

• หลักสูตรที่ 2 พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ เช่น กลุ่มอาชีพช่าง ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างเย็บผ้า ตัดผม จำนวน 40,000 คน วงเงิน 67.56 ล้านบาท

• หลักสูตรที่ 3 พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์และแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น สอดรับกับความต้องการของของตลาดและสามารถกระจายสินค้าและบริการได้อย่างกว้างขวาง จำนวน 270,000 คน วงเงิน 476.28 ล้านบาท

• หลักสูตรที่ 4 พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการเงินในภาคครัวเรือนหรือ ภาคธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาด เป็นต้น จำนวน 40,000 คน วงเงิน 48.56 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ รวมถึง ค่าจ้างเหมาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน วงเงิน 126.99 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar